วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง


สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นสงครามความขัดแย้งบนฐานการล่าอาณานิคม ระหว่างมหาอำนาจยุโรปสองค่าย คือ ฝ่ายไตรพันธมิตร (Triple Alliance) ซึ่งนำโดยเยอรมนี ออสเตรีย–ฮังการี และอิตาลี กับฝ่ายไตรภาคี (Triple Entente) นำโดยบริเตนใหญ่ ฝรั่งเศสและรัสเซีย เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1914 – 1918
ในสมัยบิสมาร์คเป็นผู้นำในการสร้างจักรวรรดินิยมเยอรมัน เมื่อบิสมาร์ครบชนะฝรั่งเศส และประกาศจักรวรรดิเยอรมันแล้วจึงดำเนินการตั้ง The Three Emperor's League ซึ่งแสดงความเป็นสัมพันธมิตรระหว่าง เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และรัสเซีย ด้วยเจตนาสำคัญประการแรกคือ ป้องกันการแก้แค้นของฝรั่งเศส ต่อมาภายหลังเมื่อออสเตรีย-ฮังการี และรัสเซีย ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์กัน จนมิอาจเป็นพันธมิตรต่อกันได้ บิสมาร์คจึงชักชวนอิตาลีเข้าแทนที่รัสเซีย จึงเกิด Triple Alliance ขึ้น
ครั้งบิสมาร์คหมดอำนาจลง จักรพรรดิเยอรมัน (Kaiser Wilhelm II) ทรงเลิกนโยบายเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย และสร้างความไม่พอใจให้อังกฤษด้วยการเริ่มโครงการขยายกองทัพเรือและขยายอิทธิพลดินแดนตะวันออก ฝรั่งเศสจึงได้โอกาสเสริมสร้างสัมพันธไมตรีกับรัสเซียและเข้าใจอันดีกับอังกฤษ และในที่สุดเมื่อทั้งสามมหาอำนาจตกลงในความขัดแย้งเรื่องอาณานิคมที่เคยมีต่อกันได้แล้ว จึงจัดตั้ง Triple Entente ในปี ค.ศ. 1907
จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 เมื่อ อาร์คดยุคฟรานซิส เฟอร์ดินัลด์ (Archduke Francis Ferdinand) มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการีและพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ที่เมืองซาราเจโวในแคว้นบอสเนีย โดยนักศึกษาชาตินิยมชาวเซอร์เบีย ชื่อ กาวริลโล ปรินซิป (Gavrilo Princip)รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีจึงตัดสินใจจะทำลายล้างเซอร์เบียให้ราบคาบ และเมื่อได้รับแรงสนับสนุนจากเยอรมนี จึงยื่นข้อเรียกร้องที่เซอร์เบียไม่อาจยอมรับได้ ออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบีย รัสเซียได้เข้าสนับสนุนเซอร์เบียและระดมพลเตรียมต่อสู้ เยอรมนีจึงได้เรียกร้องมิให้รัสเซียและฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซง ครั้นสองมหาอำนาจไม่ปฏิบัติตาม เยอรมนีจึงประกาศสงครามกับรัสเซียในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1914 และฝรั่งเศสในวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1914 ตามลำดับ
หลังจากเยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซียและฝรั่งเศสแล้ว ได้เคลื่อนกำลังพลเข้าละเมิดความเป็นกลางของประเทศเบลเยียมเพื่อขอเป็นทางผ่านในการบุกฝรั่งเศส อังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลกจึงประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 มหาอำนาจในยุโรปจึงเข้าสู่สงคราม ยกเว้นอิตาลีที่เข้าร่วมในปี ค.ศ. 1915
ฝ่ายเยอรมนี ออสเตรีย-อังการี อิตาลีได้ตุรกีและบัลแกเรียเป็นพันธมิตร ตุรกีเข้าโจมตีจักรวรรดิเปอร์เซีย บัลแกเรียเข้าผนวกโรมาเนีย แอลเบเนีย และโจมตีกรีซ ซึ่งต่อมาถูกเรียกโดยรวมว่าฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers) ส่วนอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามฝ่ายพันธ-มิตร (the Allies)ได้ประเทศต่าง ๆ อีกหลายประเทศเข้าร่วม รวมทั้งประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น แต่ในปี ค.ศ. 1917 รัสเซียได้ถอนตัวออกจากสงครามครั้งนี้ เนื่องจากเลนินผู้นำกลุ่มบอลเชวิคส์ทำการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นในรัสเซีย และสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้ามาแทนที่รัสเซีย หลังจากเยอรมนีประกาศจะใช้เรือดำน้ำทำลายเรือข้าศึกและเรือสินค้าของทุกชาติโดยไม่มีขอบเขต สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 โดยส่งทหารอาสาสมัครเข้าร่วมรบในสมรภูมิยุโรปจำนวน 1200 คน
ในช่วงแรกของสงคราม มหาอำนาจกลางเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่หลังจากที่อเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร พร้อมกับส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลเกือบ 5 ล้านคน ทำให้พันธมิตรกลับมาได้เปรียบและสามารถเอาชนะฝ่ายมหาอำนาจกลางได้อย่างเด็ดขาด ในที่สุดเมื่อฝ่ายมหาอำนาจกลางยอมแพ้และเซ็นต์สัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกินระยะเวลายาวนาน 4 ปี 5 เดือนจึงยุติลงอย่างเป็นรูปธรรม
ผลกระทบ
หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมรบและประกาศศักดาในสงครามครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกเสรีบนเวทีโลกเคียงคู่กับอังกฤษและฝรั่งเศส
รัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจโลกสังคมนิยม หลังจากเลนินทำการปฏิวัติยึดอำนาจ และต่อมาเมื่อสามารถขยายอำนาจไปผนวกแคว้นต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ยูเครน เบลารุส ฯลฯ จึงประกาศจัดตั้งสหภาพโซเวียต (Union of Soviet Republics -USSR) ในปี ค.ศ. 1922
เกิดการร่างสนธิสัญญาแวร์ซาย (The Treaty of Versailles) โดยฝ่ายชนะสงครามสำหรับเยอรมนี และสนธิสัญญาสันติภาพอีก 4 ฉบับสำหรับพันธมิตรของเยอรมนี เพื่อให้ฝ่ายผู้แพ้ยอมรับผิดในฐานะเป็นผู้ก่อให้เกิดสงคราม ในสนธิสัญญาดังกล่าวฝ่ายผู้แพ้ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม เสียดินแดนทั้งในยุโรปและอาณานิคม ต้องลดกำลังทหาร อาวุธ และต้องถูกพันธมิตรเข้ายึดครองดินแดนจนกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ประเทศผู้แพ้ไม่ได้เข้าร่วมในการร่างสนธิสัญญา แต่ถูกบีบบังคับให้ลงนามยอมรับข้อตกลงของสนธิสัญญา จึงก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดขึ้น
เกิดการก่อตัวของลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลี นาซีในเยอรมัน และเผด็จการทหารในญี่ปุ่น ซึ่งท้ายสุดประเทศมหาอำนาจเผด็จการทั้งสามได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างกัน เพื่อต่อต้านโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ เรียกกันว่าฝ่ายอักษะ (Axis)
มีการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นเป็นองค์กรกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ เป็น ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคง ปลอดภัยและสันติภาพในโลก แต่ความพยายามดังกล่าวก็ดูจะล้มเหลว เพราะในปี ค.ศ. 1939 ได้เกิดสงครามที่รุนแรงขึ้นอีกครั้ง นั่นคือ สงครามโลกครั้งที่ 2