วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2550

มันมากับส้มตำ??

ส้มตำเป็นอาหารที่แพร่หลายและนิยมรับประทานไปทุกภาค ทุกส่วนของประเทศไทย แต่ใครเลยจะรู้ว่าอาหารระดับชาติอย่างส้มตำนั้น แฝงด้วยสิ่งปนเปื้อนอะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจมองไม่เห็น ประกอบด้วย สารเคมีที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบที่นำมาปรุงส้มตำ มีดังนี้

ยาฆ่าแมลง เป็นสิ่งที่จะพบการตกค้างในผักที่จะนำมาปรุงส้มตำ และเป็นเครื่องเคียง เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ โหระพา มะละกอ พริกขี้หนู มะนาว ผักกะหล่ำ ที่บริโภคกับส้มตำ เมื่อเราบริโภคพืชผักที่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่จะทำให้ระบบคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ดังนั้น เราควรเลือกซื้อผัก ผลไม้ ที่ปลอดสารเคมีทางการเกษตร และควรล้างผัก ผลไม้ให้สะอาด ก่อนที่จะนำไปปรุงอาหารหรือบริโภค ซึ่งจะลดยาฆ่าแมลงและเชื้อโรค พร้อมทั้งไข่พยาธิที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้ได้

สารฟอร์มาลิน สารฟอร์มาลินเป็นน้ำยาใช้ดองศพ หรือฉีดศพไม่ให้เน่า ได้มีผู้ประกอบการที่จำหน่ายอาหารสด นำน้ำยาฟอร์มาลินไปแช่ในอาหารทะเล ผักสด เครื่องในวัวดิบ เพื่อป้องกันการเน่าเสียของอาหาร และได้มีพ่อค้า แม่ค้าส้มตำบางรายนำมาชุบมะละกอสับเพื่อไม่ให้บูด ซึ่งฟอร์มาลินนี้ทำให้เกิดมะเร็ง ไอของสารฟอร์มาลิน ถ้าสูดดมจะทำให้แสบจมูก และระคายเคืองในตาด้วย การเลือกซื้ออาหารจากทะเลควรซื้อจากร้านที่มีป้ายอาหารปลอดภัย และล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลินในอาหารสดได้

สารอฟาทอกซิน เป็นสารพิษที่เกิดจากราสีดำ สร้างและทิ้งไว้ในอาหาร โดยราชนิดนี้ชอบอากาศร้อน ซึ่งมีอยู่ในพื้นดินและอากาศ อาหารที่มักพบสารอฟาทอกซิน ได้แก่ ถั่วลิสง ข้าวโพด เมล็ดธัญพืชที่มี ความชื้น และถั่วลิสงคั่วก็เป็นส่วนหนึ่งของส้มตำ
และมักพบสารอฟาทอกซินในถั่วลิสงคั่วที่เก็บไว้นาน ในถุงที่ไม่ได้ปิดสนิท ที่ป้องกันอากาศเข้าออกได้ โดยสารอฟาทอกซินจะทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ตับ

สีในกุ้งแห้ง เป็นสิ่งที่มีการเติมแต่งให้ดูสวยงาม ประกอบด้วยสีผสมอาหาร เป็นสีปลอดภัยนำมาผสมในอาหารได้บางชนิด แต่พ่อค้าแม่ค้าบางรายมักง่ายใช้สีย้อมผ้า เนื่องจากมีราคาถูกมาใช้ผสมอาหาร ซึ่งสีย้อมผ้ามีพิษสูง บางชนิดทำให้เกิดมะเร็งได้ ส่วนสีผสมอาหารแม้จะไม่เป็นพิษ แต่การบริโภคอาหารที่ใส่สีผสมอาหารในปริมาณมาก ร่างกายต้องกำจัดออกทำให้ไตต้องทำงานหนัก มีโอกาสทำให้เป็นโรคไตได้

สารฟอกขาว ถูกนำมาใช้ในอาหารหลายประเภท เพื่อฟอกสีที่ไม่สวยหรือดำให้ดูขาวสะอาด อาหารที่มักพบว่า มีการใช้สารฟอกขาว เช่น ถั่วงอก ยอดมะพร้าวอ่อน ขิงหั่นฝอย ผลไม้ที่ปอกเปลือก(กระท้อน) น้ำตาลปี๊บ ทุเรียนกวน ผลไม้ดอง เป็นต้น สารฟอกขาวที่เป็นพิษสูง ได้แก่ โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ หรือโซเดียมไทโอไนต์ ปกติจะใช้ฟอกแห อวน ไม่อนุญาตให้นำมาใช้ผสมในอาหาร โซเดียมไบซัลไฟต์ สารนี้มีความเป็นพิษไม่รุนแรง แต่การนำมาใช้ผสมอาหารต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน และใช้ในปริมาณจำกัดเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: